ซาเลเซียนในประเทศไทย

การริเริ่มส่งธรรมทูตซาเลเซียนมาประเทศไทย เริ่มในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) โดยบาทหลวงคานัสเซย์ เจ้าคณะแขวงซาเลเซียนประจำประเทศจีน (ภายหลังได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลซิวเจา) ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อสำรวจหาข้อมูลและความเป็นไปได้ในการที่จะให้ธรรมทูตซาเลเซียนได้เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย

ปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) พระสังฆราชมาธีอาส(ซาเลเซียน) แห่งสังฆมณฑลอัสสัมในอินเดียพร้อมด้วยบาทหลวงคานัสเซย์ ได้นำ บาทหลวงปีเอโตร รีกัลโดเน รองอัคราธิการคณะซาเลเซียนเดินทางมาที่กรุงเทพฯ และเข้าพบพระสังฆราช เรอเน แปร์รอส ประมุขสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมการส่งธรรมทูตซาเลเซียนมาประเทศไทย

ที่สุดวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) คณะธรรมทูตซาเลเซียนชุดแรกประกอบด้วย บาทหลวงยอห์น กาเสตตาและ สามเณรยอร์ช ไปน๊อตตี ก็เดินทางจากมาเก๊าประเทศจีนมาถึงประเทศไทยและได้พำนักที่วัดบางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเตรียมการต้อนรับคณะธรรมทูตที่จะเดินทางมาอย่างเป็นทางการ

วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1927 ธรรมทูตซาเลเซียนกลุ่มใหญ่จำนวน 18 ท่าน ก็ได้เดินทางทางเรือมาถึงบางนกแขวก ภายใต้การนำของบาทหลวงกาเยตาโน ปาซอตตี (ต่อมาท่านได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลราชบุรี) และที่บางนกแขวกนี้ก็นับว่าเป็นบ้านแรกของคณะซาเลเซียนในเมืองไทย

จากนั้น ก็มีธรรมทูตอีกหลายชุดเดินทางเข้ามาเพื่อเสริมกำลังจนเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ใหญ่ของคณะซาเลเซียนให้ความสนใจกับเมืองไทยเป็นพิเศษ เพราะในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีก็ได้มีการส่งธรรมทูตมาเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ธรรมทูตซาเลเซียนทั้งหมดได้เริ่มเรียนภาษาไทย เรียนรู้ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีไทย และสิ่งอื่นๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจประเทศไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแพร่ธรรม ท่านเหล่านั้นต้องประสบกับปัญหาเรื่องอาหาร อากาศ และสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากประเทศอิตาลีบ้านเกิดอย่างสิ้นเชิง แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้ต่อสู้อุปสรรคเหล่านี้ด้วยพลังแห่งความรักในการรับใช้เยาวชนตามจิตตารมณ์ของคุณพ่อบอสโก

วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) พระสังฆราชแปร์รอสแห่งสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้มอบให้คณะซาเลเซียนดูแลสังฆมณฑลราชบุรี และในวันที่ 30 มิถุนายน ปีเดียวกัน บาทหลวงกาเยตาโน ปาซอตตี ได้รับการแต่งตั้งให้ปกครองสังฆมณฑลราชบุรีและต่อมาอีก 12 ปี คือในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ท่านจึงได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลราชบุรีอย่างเป็นทางการ เขตการปกครองสังฆมณฑลราชบุรีนั้นเริ่มตั้งแต่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรีแล้วลงไปจนสุดแดนภาคใต้ คณะซาเลเซียนทำหน้าที่ดูแลกิจการของวัด, โรงเรียน และการอภิบาล สัตบุรุษของสังฆมณฑล ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายและยิ่งใหญ่สำหรับธรรมทูตซาเลเซียนในยุคนั้น

คณะธรรมทูตซาเลเซียนที่เข้ามาในเมืองไทยนี้เป็นกลุ่มที่บุกเบิกวางรากฐาน กิจการแพร่ธรรมในประเทศไทย พวกท่านได้อุทิศทั้งชีวิตเพื่ออนาคตที่ดีของเยาวชนไทย และพวกท่านเหล่านี้เกือบทั้งหมดต่างก็ได้สิ้นชีวิตและฝังร่างของท่านไว้ในแผ่นดินไทย เพื่อเป็นพยานแห่งรักอันซื่อสัตย์ต่อจิตตารมณ์ซาเลเซียน เป็นเมล็ดพันธุ์ให้คณะซาเลเซียนเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป หลังจากนั้น ได้มีธรรมทูตซาเลเซียนจากประเทศอิตาลี, เบลเยี่ยม, สเปน, เนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาสมทบกับธรรมทูตรุ่นพี่เพื่อสืบสานกิจการแห่งความรักของคุณพ่อบอสโกต่อบรรดาเยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนที่กำพร้ายากจน และถูกทอดทิ้งในประเทศไทยให้ได้รับการอบรม การศึกษา และดูแลให้เป็นคนที่ดี สมบูรณ์และมีคุณภาพทั้งสำหรับพระศาสนจักรและประเทศชาติต่อไป

ต่อมาเมื่อมีการแยกสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานีออกมาเป็นสังฆมณฑลใหม่ ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ได้ย้ายมาเป็นประมุขสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี โดยมอบสังฆมณฑลราชบุรีให้แก่ พระสังฆราชโรเบิร์ต รัตน์ บำรุงตระกุลนวันที่ 8 กันยายน ปีเดียวกัน และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา คณะซาเลเซียนก็รับผิดชอบงานแพร่ธรรมของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี เริ่มตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จนสุดแดนภาคใต้ของประเทศไทย ปัจจุบันนี้ พระสังฆราชยอแซฟ ประธาน ศรีดารุณศีล เป็นพระสังฆราชซาเลเซียนปกครองสังฆมณฑลแห่งนี้ สืบต่อจากพระสังฆราชไมเกิล ประพนธ์ ชัยเจริญ ผู้สืบอำนาจต่อจากพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต ซึ่งพระสังฆราชทั้งสององค์ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

นอกจากกิจการในประเทศไทย คณะซาเลเซียนในประเทศไทยได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการของคณะซาเลเซียน ในราชอาณาจักรกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวด้วย

สำหรับกิจการคณะซาเลเซียนในราชอาณาจักรกัมพูชานั้น บาทหลวงยอห์น วิสเซอร์ อดีตอธิการโรงเรียนดอนบอสโก กรุงเทพฯ ได้เป็นผู้บุกเบิกนำสมาชิกซาเลเซียนเข้าสู่ประเทศนี้เมื่อปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) เปิดสอนโรงเรียนอาชีวะดอนบอสโกที่กรุงพนมเปญ, เมืองปอยเปต และเมืองสีหนุกวิลล์

กิจการซาเลเซียนที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น บาทหลวงตีโต เปดรอน ได้รับมอบหมายจากคณะซาเลเซียนให้ดำเนินการเจรจากับรัฐบาลประเทศลาวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) เพื่อจะเปิดโรงเรียนอาชีวะดอนบอสโก ที่กรุงเวียงจันทน์ และขณะนี้ ซาเลเซียนได้เริ่มกิจการเล็กๆ โดยเปิดสอนวิชาชีพช่างยนต์และช่างไฟฟ้าแก่เยาวชนลาว ณ กรุงเวียงจันทน์

ปัจจุบันมีสมาชิกคณะซาเลเซียนในประเทศไทยจำนวน 97 ท่าน โดยมี บาทหลวงยอห์น บอสโก เทพรัตน์ ปิติสันต์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงซาเลเซียนแห่งประเทศไทย